ข้อมูล (data) หมายถึง รายละเอียด ข้อเท็จจริง ในการเก็บรวบรวมตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เป็นสิ่งที่จะนำมาเป็นหลักฐานเพื่อใช้บรรยายประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการศึกษาหรือต้องการทราบ ชนิดของข้อมูล แบ่งตามแหล่งที่มาของข้อมูลได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary data) คือ ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลขั้นต้นที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลโดยตรง เป็นข้อมูลที่ลงมือเก็บครั้งแรกด้วยตนเอง หรือจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แล้วนำเอาข้อมูลเหล่านั้นใช้เป็นเอกสารอ้างอิง เมื่อต้องการข้อมูลเหล่านี้ก็จะไปทำการวัดหรือสังเกตเอามาโดยตรง ได้มาจากการสำรวจ การสัมภาษณ์ การทดลอง และการส่งแบบสอบถามไปให้กรอก เป็นต้น ข้อมูลที่ได้จะมีความถูกต้องและทันสมัยเป็นปัจจุบันมากกว่าข้อมูลทุติยภูมิ
2. ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data) คือ ข้อมูลที่ได้จากแหล่งที่รวบรวมข้อมูลไว้แล้ว ที่มีผู้หนึ่งผู้ใด หรือหน่วยงานได้ทำการเก็บรวบรวมหรือเรียบเรียงไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น ข้อมูลทางสถิติต่างๆ ที่มีการบันทึกไว้แล้ว ข้อมูลจากรายงานการวิจัย บันทึกการนิเทศ เป็นต้น แล้วสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้อ้างอิงได้เลย ข้อมูลที่ได้อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้
การที่จะตัดสินใจว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลปฐมภูมิหรือข้อมูลทุติยภูมินั้น มีหลักสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเป็นข้อมูลปฐมภูมิจะต้องเป็นข้อมูลที่ผู้เขียนหรือผู้ประเมินผลได้พบเหตุการณ์ต่างๆ หรือลงมือสำรวจศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นเริ่มแรกด้วยตนเอง มิได้คัดลอกมาจากผู้อื่น แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ได้คัดลอกมาจากบุคคลอื่นๆ แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ ถือว่าเป็นข้อมูลทุติยภูมิ
ลักษณะข้อมูล จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative data) เป็นข้อมูลที่บอกเป็นตัวเลขหรือปริมาณที่มีอยู่จริงของตัวแปรแต่ละตัวที่กำลังสนใจศึกษาอยู่ เช่น จำนวนเกษตรกร รายได้ของเกษตรกร พื้นที่ปลูกหม่อน เป็นต้น
2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ (qualitative data) เป็นข้อมูลไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ แต่จะบอกในลักษณะคำพูดหรือบรรยายที่แสดงคุณลักษณะที่แตกต่างของตัวแปรต่างๆ โดยพยายามแยกเป็นกลุ่มตามคุณสมบัติ เช่น อาชีพ เพศ ศาสนา พันธุ์หม่อนที่ปลูก พันธุ์ไหมที่เลี้ยง การใช้ปุ๋ย เป็นต้น
ลักษณะของข้อมูลที่ดี ต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีความถูกต้อง แม่นยำ สามารถให้ข้อเท็จจริงที่ปราศจากความลำเอียงหรืออคติ
2. มีความเป็นปัจจุบัน ทันสมัยอยู่เสมอ
3. มีความสมบูรณ์ครบถ้วน สามารถให้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนทุกด้านตามประเด็นที่ต้องการ
4. มีความชัดเจน กะทัดรัด ไม่เยิ่นเย่อ หรือมีรายละเอียดมากจนเกินไป
5. มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้และอยู่ในขอบเขตของความต้องการที่จะศึกษา
Ü ชนิดของข้อมูลที่จำเป็นในการสำรวจความรู้ประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่
1. ข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อ-สกุล, ที่อยู่, อายุ, เพศ, การศึกษา, เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน, เชื้อชาติ, สัญชาติ, สัญชาติ, ศาสนา, จำนวนสมาชิกในครัวเรือน และจำนวนแรงงานในครัวเรือน ข้อมูลดังกล่าว มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะใช้ประกอบในการสร้างเครื่องมือในการสำรวจความรู้ในการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำให้เข้าถึงตัวเกษตรกรได้ง่าย
2. ข้อมูลทางการเกษตร เช่น อาชีพ ได้แก่ อาชีพหลัก อาชีพรอง ทำให้ทราบว่าเกษตรกรเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพรอง ความรู้เกษตรกรด้านหม่อนไหม ได้แก่ การปลูกหม่อน, การเลี้ยงไหม, การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม, ชาหม่อน, น้ำหม่อน, ไวน์หม่อน, การสาวไหม, ฟอกย้อมสีไหม, ทอผ้าไหม สิ่งประดิษฐ์จากรังไหม และการตลาด ชนิดข้อมูลดังกล่าว มีความจำเป็น เนื่องจากสามารถทราบได้ว่าเกษตรกรมีความรู้ด้านหม่อนไหมหรือไม่ มีความรู้ในระดับใด และทราบว่าเกษตรกรได้รับความรู้จากแหล่งใด
3. ข้อมูลเศรษฐกิจ เช่น รายได้ จากอาชีพหลัก อาชีพรอง รายได้จากหม่อนและไหม ได้แก่ รังไหม ,เส้นไหม, ผ้าไหม, ไหมวัยอ่อน, ดักแด้, ใบหม่อน, ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม ข้อมูลดังกล่าวมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นข้อมูลที่บ่งบอกถึงว่าคนที่มีรายได้มากอาจจะมีความรู้มากกว่าคนที่มีรายได้น้อยกว่า
4. ข้อมูลด้านสังคม เช่น การเป็นสมาชิกกลุ่ม โอกาสที่เกษตรกรจะได้รับความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ในกลุ่มมีมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม และโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า ซึ่งมีโอกาสได้รับความรู้ข่าวสารได้มากกว่าการย้ายถิ่นฐาน สามารถบอกได้ว่าถ้ามีการย้ายถิ่นฐานจะมีการนำความรู้เดิมติดตามไปยังพื้นที่ใหม่ด้วย ข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบแหล่งที่มาของความรู้หรือข้อมูล
5. ข้อมูลด้านหม่อน -ไหม
ด้านหม่อน ได้แก่
การจัดการแปลงหม่อน เช่น การใส่ปุ๋ย, การตัดแต่งกิ่ง, ใส่น้ำ, การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
- พื้นที่ปลูกหม่อน
- พันธุ์หม่อน
ด้านไหม ได้แก่ ผลผลิต การจำหน่ายผลผลิต แหล่งรับซื้อ การป้องกันกำจัดโรคไหม ห้องเลี้ยงไหม พันธุ์ไหม จำนวนรุ่นไหมที่เลี้ยงต่อปี จำนวนแผ่นไข่ไหมต่อรุ่น
ข้อมูลดังกล่าวมีความจำเป็นเนื่องจากทำให้ทราบว่าเกษตรกรมีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักวิชาการมากน้อยเพียงใด ตลอดจนทำให้ทราบถึงภูมิปัญญาชาวบ้านของเกษตรกร
6. ข้อมูลอื่น ๆ ได้แก่ ข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรค ข้อมูลดังกล่าวมีความจำเป็นเนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เสนอความคิดเห็น และบอกถึงปัญหาอุปสรรคในการประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key factor success)
1. ข้อมูลมีความถูกต้อง แม่นยำ ปราศจากความลำเอียง
2. มีความเป็นปัจจุบัน ทันสมัย
3. มีความสมบูรณ์ ครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์
4. มีความชัดเจน
5. มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ อยู่ในขอบเขตความต้องการที่จะศึกษา
*************
mercredi 21 avril 2010
Inscription à :
Publier les commentaires (Atom)
Aucun commentaire:
Enregistrer un commentaire